06 สิงหาคม 2554

ความเชื่อตามโฆษณา โดยไม่ศึกษา ก็ไม่ดีนะ

วันก่อนชมรายการคลายปม  ทำให้สะกิดใจ  และรู้สึกแย่ที่  เมื่่อมีการศึกษาวิจัย
และความจริงปรากฎ   เกี่ยวกับ "รังนอกแท้  100%"

สำหรับท่านที่เชื่อตามโฆษณา  ที่นำดารา  นักร้อง  หน้าตาดีมาโฆษณา
(เราก็คล้อยตามง่ายอยู่แล้ว  สำหรับคนหน้าตาดี)

เชิญอ่านข่าวจากคมชัดลึก  แล อ่านผลงานวิจัยที่ link ด้านล่างนี้แล้วนำไปให้ลูกศิษย์เราอ่านเพื่อคิดวิเคราะห์  คิดชั้นสูง   หรือชั้นสูงกว่า  ก็คงจะดีมิใช่น้อย


คมชัดลึก  ก็บอกว่า


1%เต็มร้อย'รังนกแท้'ฉลากสับสนจี้ควบคุม

1%...เต็มร้อย'รังนกแท้'ฉลากสับสน'เพื่อผู้บริโภค'จี้ควบคุม : รายงานโดยโต๊ะรายงานพิเศษ                     


หลังจากมีข่าวการนำเสนอ "ส่วนประกอบของรังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1%" ถูกนำมาติดไว้บริเวณก่อนจ่ายค่าผ่านทางด่วนประมาณ 80 จุด สร้างความสนใจให้แก่คนที่สัญจรผ่านไปมา จนหลายคนเริ่มคิดว่า รังนกที่อยู่บรรจุอยู่ในขวดสวยหรู แถมยังราคาสูง แท้ที่จริงใส่รังนกแท้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่ ?


 จนกระทั่งมีเรื่องร้องเรียนมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค "พชร แกล้วกล้า" ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้าน อาหารโดยผู้บริโภค จึงเก็บข้อมูลตัวอย่างผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปเท่าที่หาได้ในตลาด 4 ยี่ห้อ เพื่อนำมาศึกษา พบว่า 3 ใน 4 ยี่ห้อ ระบุส่วนประกอบของรังนก 1 เปอร์เซ็นต์เศษจริง แต่เมื่อนำส่วนประกอบอื่นๆ มารวมกันแล้วไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง ระบุว่ามีรังนก 0.16 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อรวมส่วนประกอบอื่นๆ แล้วได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางยี่ห้อ ยังเพิ่มข้อความสะดุดตาบนฉลากอีกว่า "รังนกแท้ 100%" จนทำให้ผู้บริโภคสับสนและเข้าใจผิด
           "ฉลากที่ก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้ใช้คำว่า "รังนกแท้" ก่อให้เกิดความสับสับสนแก่ผู้บริโภคในส่วนประกอบ ทำให้ผู้บริโภคคาดหวังสัดส่วนของเนื้อรังนกในปริมาณที่สูงมากกว่าที่เป็น อยู่ โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นรังนกแท้ๆ ที่ไม่ใช่รังนกปลอม นอกจากนี้ การอนุญาตให้ใช้ข้อความบนฉลากโดยใช้คำว่า 100% จากถ้ำธรรมชาติ ถือเป็นการอ้างแหล่งที่มาและอาจจะเข้าข่ายการโฆษณาบนฉลากหรือไม่" พชร ตั้งข้อสังเกต
           ต่อมา นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงเรื่องนี้ว่า เครื่องดื่มรังนกจะมีลักษณะเฉพาะตัว ตามส่วนประกอบที่เติมแต่งในผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น น้ำตาล น้ำผลไม้ต่างๆ นม ขึ้นอยู่กับแต่ละสูตร กรณีฉลากอาหาร อย. กำหนดให้แสดงสูตร ส่วนประกอบเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณ สำหรับเครื่องดื่มรังนก ส่วนประกอบโดยประมาณจะมีรังนกแห้งประมาณ 1% แต่เมื่อนำไปต้มกับน้ำแล้ว รังนกแห้งจะดูดน้ำและขยายตัวมากกว่า 10 เท่า จึงทำให้ดูมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งปริมาณรังนกแห้งก็ได้แสดงไว้ที่ส่วนประกอบ โดยแสดงเป็นร้อยละของน้ำหนัก ไม่ใช่ร้อยละของปริมาตร
           "คำว่า “รังนกแท้ 100%” หมายถึง ผลิตภัณฑ์นี้ทำจากรังนก และได้มีการตรวจสอบเอกลักษณ์ว่าเป็นรังนกจริง โดยปริมาณของรังนกที่เติมลงไป จะเป็นรังนก 100% ตามสูตรส่วนประกอบ กรณีนี้ อย. จะดำเนินการพิจารณาทบทวนข้อความการโฆษณาอีกครั้ง โดยแจ้งผู้ประกอบการให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจได้ง่าย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสน จะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลาก แจ้งไปยังผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อปรับปรุงเรื่องฉลาก เพื่อให้เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว" นพ.นรังสันต์ ระบุ
           นพ.นรังสันต์ กล่าวอีกว่า อย. ขอแนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลาก ดูส่วนประกอบ เพื่อไม่ให้หลงกลคำโฆษณาที่กำกวม โอ้อวดเกินจริง หากตรวจพบ อย. จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย กรณีอาหารมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท กรณีโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556
           หลังจาก อย.ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ "สารี อ๋องสมหวัง" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออก 4 มาตรการ เพื่อผู้บริโภคจะได้ไม่สับสนกับฉลากรังนก คือ 1.เห็นด้วยกับ อย.ที่บอกว่าจะทบทวนข้อความเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสนนั้น แต่อยากขอร้องให้ อย.ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 2.ทำหนังสือถึง สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ให้พิจารณาถึงโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคด้วย 3.ทำหนังสือถึงการทางพิเศษ ขอชื่นชมที่ยังมีการติดป้ายข้อความนี้ไว้อยู่ ซึ่งเป็นป้ายที่ให้ความรู้แก่ประชาชน แม้จะมีคนที่พยายามขอให้ปลดป้ายออก และ 4.มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการบอกให้นำป้ายออกนั้น อยากจะให้คิดว่ามุ่งเน้นให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย เกี่ยวกับฉลากที่เกิดความสับสน นอกจากรังนกที่เป็นปัญหาอยู่นั้นก็มีในส่วนของน้ำผลไม้ที่มีปัญหาในลักษณะ เดียวกัน


ที่มา   :  sources
http://www.komchadluek.net/detail/20110801/104528/1%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1.html


http://www.inmu.mahidol.ac.th/th/knowledge/source/69.swf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น