03 เมษายน 2554

ผ้าไหมโฮล : ผ้าไหมประจำจังหวัดสุรินทร์




ปลายปี 2553  วิชาการโรงเรียนชุมพลวิทยาสรรค์ได้นำเสนอ
การแสดงรำพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์   ซึ่งได้นำเสนอวัฒนธรรม
และความเป็นอยู่ของคนสุรินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาว
ชุมพลบุรี เขตทุ่งกุลาร้องไห้ที่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยลำน้ำมูล
ข้าวหอมมะลิเม็ดงาม  และผ้าไหมโฮล  ผ้าไหมยกดอกอันแสนสวย

วันนี้ไปพบบทความด้านล่าง  ผ่านมาหลายปี (กรกฏาคม 2550)  

เห็นว่าน่าสนใจก็ถือโอกาสเอามาฝากเผื่อจะมีผู้สนใจ  ภูมิใจในความ
เป็นอยู่ของคนอิสานใต้ เมืองสุรินทร์เหลายังไงละ 
ต้องขออนุญาตเจ้าของบทความขอตัดบางส่วนออกบ้าง 
เพื่อความพอดีของ blog ครับผม





ภาพจาก http://www.google.com






'ผ้าโฮลสุรินทร์'...โก อินเตอร์


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้คัดเลือกตัวแทน
ช่างฝีมือจากประเทศไทยไปแสดงวิธีการผลิตผ้าทอมือในงาน
เทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้านประจำปี 2550 จัดโดยสถาบันสมิธโซเนียน 
ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2550





 คุณสุเพ็ญ  หนึ่งในสองภูมิปัญญาไทย  เล่าถึงลักษณะของผ้าโฮลว่า


 "โฮลแปลว่าไหล ลายของผ้าโฮลจะดูเป็นลายน้ำไหล เป็นผ้าไหมชนิดเดียว
ที่มีชายผ้าใช้ลักษณะการทอมือย้อมสีธรรมชาติทั้งหมด อย่างเช่นสีแดงย้อม
ด้วยครั่ง  สีเหลืองย้อมมาจากเข สีฟ้าย้อมมาจากคราม สีดำย้อมมาจากมะเกลือ
สีส้มก็ต้องเอาไปย้อมครั่งก่อนแล้วค่อยเอามาย้อมเขทีหลัง และสีเขียวก็ต้อง
ย้อมเขก่อนจึงนำมาย้อมด้วยครามทีหลัง"


 ลักษณะลายของผ้าโฮลและสีสันของผ้านั้นสืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับพันปี 
แต่ครั้งขอมยังเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนอีสานใต้ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ตั้งของจังหวัด
สุรินทร์ในปัจจุบัน คุณสุเพ็ญบอกว่าลายผ้าโฮลนี้อาจหาชมได้จากรูปปั้น
นางอัปสราที่อยู่ในปราสาทหินหลายหลังของดินแดนอีสานใต้ ชาวสุรินทร์
จึงสืบทอดการทอผ้าโฮลมาแต่นั้น   ผ้าโฮลถือเป็นผ้ามงคล นิยมใช้สวมใส่
ในงานพิธีมงคล เช่น งานแต่งงาน งานบวช ในการเรียกขวัญนาคก่อนจะทำ
พิธีบวชก็จะใช้ผ้าโฮลคลุมในการบายศรีสู่ขวัญนาค นิยมใช้กันมากในจังหวัด
สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์


ด้านความเชื่อ


 " บ้านที่มีสมาชิกในบ้านเพิ่งเสียชีวิต ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน 
หรือกำลังตั้งครรภ์ จะไม่สามารถย้อมสีผ้าโฮลได้ เพราะผ้าโฮล
เป็นของสูง"

สาเหตุที่การย้อมผ้าโฮลต้องใช้สีจากธรรมชาติเท่านั้นเป็นเพราะความภูมิใจ
ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้คิดค้นวิธีการย้อมสีผ้าเอาไว้ให้ติดทนนาน 
ไม่มีปัญหาเรื่องสีตก และยิ่งใช้ผ้าโฮลไปนานเข้าสีของผ้าจะยิ่งสดและติด
ทนนานขึ้นตนจึงไม่คิดที่จะพัฒนาให้เป็นสีผสมประเภทอื่น


 ส่วน คุณพัชรี กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้ทราบว่าได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน
ตัวแทนช่างฝีมือจากประเทศไทยไปร่วมแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้านริม
แม่น้ำโขงในงานเทศกาลครั้งนี้ว่า


 "ภูมิใจมากค่ะ เพราะผ้าโฮลที่เราทอเป็นผ้าประจำจังหวัดสุรินทร์ ดีใจที่เกิด
เป็นคนสุรินทร์และได้มีโอกาสดีๆ ที่จะได้เผยแพร่วัฒนธรรมของสุรินทร์ให้
ชาวโลกได้รับรู้ถึงความสวยงามของผ้าไทยของเรา ผ้าโฮลนับว่าเป็นราชินี
แห่งผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ ก็ดีใจที่ทำตรงนี้แล้วมีคนมองเห็นคุณค่า
ของงานฝีมือของชาวบ้าน"


 ทุกวันนี้การทอผ้าโฮลยังคงเป็นกิจกรรมหลังฤดูที่ว่างเว้นจากการทำนา
ของหญิงสาวชาวสุรินทร์จำนวนไม่น้อย ด้วยเป็นผ้าที่ต้องใช้ฝีมือมากในการทอ
 และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่สืบทอด
วัฒนธรรมทอผ้าโฮลของชาวสุรินทร์ความภูมิใจอีกอย่างหนึ่งของชาวจังหวัด
สุรินทร์ก็คือการได้ทอผ้าโฮลสีเหลืองทองขึ้นมาผืนหนึ่ง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 
80 พรรษา และทอผ้าโฮลสีฟ้าครามอีกหนึ่ง ผืนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จ
พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวสุรินทร์


 "อยากให้ลูกหลานดูตัวอย่างการทอผ้าของรุ่นพ่อรุ่นแม่เอาไว้ วัฒนธรรม
ของเราอีสานใต้ มีมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว ก็อยากทำเป็นตัวอย่างให้เห็น
และให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้สืบทอดต่อไป


อยากให้ลูกหลานชาวสุรินทร์ให้ความสนใจและสืบทอดวัฒนธรรมการ
ทอผ้าโฮลต่อไป"คุณ พัชรีกล่าว


รัชดากร จิตรามาศ



Sources  :  http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/05/WW06_0607_news.php?newsid=82366

http://www.youtube.com/watch?v=xKsLcXsKPfI




ผ้าไหมโฮล

2 รูปด้านบนก็นำมาจากท่านกูเกิ้ล http://www.google.com ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น