18 เมษายน 2554

• "ยุบ สทศ. สมศ..." สมพงษ์ จิตระดับ ชำแหละนักเรียนสอบตกโอเน็ต "ยกสยาม"

ภายหลังการประกาศผลโอเน็ต หรือวิชาพื้นฐาน เอเน็ต ว่าเด็กไทยสอบตกทั้งประเทศ อีกทั้งวิชาที่สำคัญเป็นพื้นฐานคะแนนยังต้อยต่ำสุดๆ ไทยรัฐออนไลน์ หอบเอาความหวังไปถาม รศ.ดรสมพงษ์ จิตระดับ ถึงวิกฤติการศึกษาไทยทุกวันนี้ว่าใคร สิ่งไหน คือจุดอ่อนการศึกษาของประเทศไทย...


เกินกว่าคำว่า “น่าตกใจ” ภายหลังการประกาศผล โอเน็ต หรือวิชาพื้นฐาน เอเน็ต ว่าเด็กไทยสอบตกทั้งประเทศ อีกทั้งวิชาที่สำคัญเป็นพื้นฐานคะแนนยังต้อยต่ำสุดๆ

การออกข้อสอบยากมากเหมือนกับข้อสอบแข่งขันโอลิมปิก บางคำถามต้องตอบตัวเลือกให้ถูกถึง 2 ข้อถึงจะได้ 1 คะแนน ข้อสอบจากที่เคยเป็นปรนัยปีนี้กลายเป็นปรนัย-อัตนัยอย่างละครึ่งๆ แถมยังให้เวลาน้อยนิด

เด็กหลายคนเลือกทำอัตนัยแล้วทิ้งปรนัยคะแนนจึงลดลงเลย ประเด็นสำคัญที่โดนพูดถึงคือ การออกข้อสอบโดยอาจารย์สาธิต ซึ่งเป็นแนววิเคราะห์มาก ดังนั้นเด็กที่ไม่ได้เรียนสาธิตก็สอบตกหมด อาจารย์ไม่สนใจในการสอนเพราะมัวแต่เอาเวลาไปทำภารกิจส่วนตัวเรื่องเลื่อนวิทยฐานะครู ทำให้คุณภาพการสอนในห้องเรียนไม่มี เด็กส่วนใหญ่ก็หันไปทุ่มเงินเรียนพิเศษ แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีเงิน

“ถ้าให้พูดตรงๆ ถ้าไม่เรียนพิเศษหนูและเพื่อนๆ ก็ไม่ติดหมอหรอก แต่ถามจริงๆ มันไม่มีเด็กคนไหนอยากเรียนพิเศษถ้าครูในห้องตั้งใจสอนไม่ได้กั๊กเอาไว้และแนะนำให้เราไปเรียนพิเศษปกติเรียนวันละ 8 ช.ม.ไปเรียนพิเศษถึง 2 ทุ่มกว่าจะกลับบ้าน กินข้าว อาบน้ำ ทำการบ้านเสร็จ ตี 1 อึดๆ ทึกๆ เพื่อรับมือกับข้อสอบที่ออกมายากๆ โรงเรียนก็มีมาตรฐานไม่เท่ากัน เด็กก็รวยจนไม่เท่ากันเงินเรียนพิเศษก็ไม่มีแล้วกระทรวงศึกษา สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) ทำอะไรบ้างไหม ก็เปล่า...?”

เป็นคำพูดที่สะท้อนปัญหาของเหล่านักเรียนได้อย่างดี

ไทยรัฐออนไลน์ หอบเอาความหวังไปถาม รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงวิกฤติการศึกษาไทยทุกวันนี้ว่าใคร สิ่งไหน คือจุดอ่อนการศึกษาของประเทศไทย


Q : ในฐานะคนที่คลุกคลีด้านการศึกษามา ดูผลประกาศว่าเด็กสอบโอเน็ตตกทั้งประเทศแล้วรู้สึกอย่างไร

A : จริงๆ มันตกร่วงมา 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการปฏิรูปรอบแรกกับปฏิรูปรอบนี้ แล้วผลที่ออกมาถามว่าสะท้อนอะไรผมมองว่ามันคือการวัดผลประเทศเรานี้ คือการสอบเป็นกระบวนการที่สอบแล้วไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรประการแรกเลยเด็กจึงไม่ตั้งใจสอบ เพราะคิดว่าสอบไปทำอะไร ถึงสอบตกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญ สอบตกก็ไม่เลื่อนชั้น

อีกอย่างบ้านเรามันใช้วิธีการจับฉลากเข้าเรียนแล้ว การสอบมันเยอะเกินไป คืออย่างปีนี้ ตารางสอบโอเน็ตกับแกทแพทห่างกันไม่มาก คนจึงหันไปทุ่มกับแกทแพท เพราะเวลาเข้ามหาวิทยาลัยต้องใช้คะแนนนี้ถึง 50% ขณะที่โอเน็ตใช้เพียง 30% และเป็นข้อสอบที่มีเนื้อหาอยู่ในหลักสูตร ไม่จำเป็นต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่ม เฉพาะที่เรียนในห้องเรียนก็น่าจะทำได้เลยไม่ค่อยตั้งใจสอบคะแนนโอเน็ตในภาพรวมก็เลยออกมาต่ำ

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองก็คือว่าปีนี้ข้อสอบเปลี่ยนฉะนั้นเราจะเห็นว่าเด็กที่จะสอบภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมง 3 วิชา มันจะสอบภาษาไทยกับสังคม แล้วภาษาอังกฤษมันจะทิ้ง ทำให้คะแนนภาษาอังกฤษออกมาแบบที่เห็นก็คือตกมากมาย สทศ. เริ่มมีแนวข้อสอบที่หลากหลาย บางคำถามต้องตอบถูกถึง 2 ข้อถึงจะได้ 1 คะแนน ส่วนข้อสอบที่เคยเป็นปรนัยมาปีนี้กับปีที่แล้วกลายเป็นปรนัย-อัตนัยอย่างละครึ่งๆ แล้วก็จำกัดเวลา หลายคนจึงเลือกทำอัตนัยก่อนแล้วทิ้งปรนัยคะแนนจึงห่วยอย่างที่เห็น


Q : อาจารย์กำลังบอกว่าข้อสอบแปลกๆ ของ สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) ก็มีส่วนทำให้ผลลัพธ์ออกมาแบบที่คนช็อก คือสอบโอเน็ตตกทั้งประเทศ...?

A : ใช่ เรื่องข้อสอบ ประเด็น กระบวนการสอบ เหล่านี้ก็มีผล แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่ามีผลคือกลุ่มคนที่ออกข้อสอบเป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิตทั้งหมด อาจารย์จากโรงเรียนอื่นๆ ไม่มีส่วนในการออกข้อสอบนะครับ เพราะฉะนั้นข้อสอบมันจึงยาก (เน้นเสียง) ข้อสอบเป็นลักษณะในเชิงวิเคราะห์มาก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรงเรียนสาธิต เด็กสาธิตจึงทำได้ไม่บ่น แต่เด็กโรงเรียนส่วนใหญ่ทั้งประเทศจะเน้นความรู้ความจำ เน้นเรียนจากหนังสือ ไม่เน้นวิเคราะห์ ข้อสอบที่ออกมาจึงมันขัดแย้งกับตัวเด็ก แล้วตัวผู้ออกข้อสอบนั้นก็ไม่ได้สอนเด็กส่วนใหญ่ของประเทศด้วย อันตรายมากๆ


Q : แล้วอาจารย์ที่ออกข้อสอบเหล่านี้ใครเป็นคนคัดเลือก

A : สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) กำหนดว่าต้องเป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิต ฉะนั้นกลุ่มผู้ออกข้อสอบกับเด็กที่สอบนี้ไม่ใช่ครูและนักเรียนโดยตรง อีกปัญหาหนึ่งที่เห็นจากการลงภาคสนามของผมมาตลอด ผมลงไปทำเรื่องสภาเด็ก ทำเรื่องเยาวชนมากมาย พวกเขาบอกว่าเด็กๆ กังวลมากว่าอนาคตข้างหน้า ครูบาอาจารย์จะทิ้งเด็กไม่สอนหนังสือ ไม่ทุ่มเท จ้ำจี้ จ้ำชัยเหมือนแต่ก่อน มัวแต่ไปทำเรื่องส่วนตัวกันหมด ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คือที่ผ่านมาครูจะเจริญก้าวหน้าเงินเดือนสูงมาก แต่คุณภาพเด็กกลับตกต่ำ

ฉะนั้นการออกแบบเรื่องทำวิทยฐานะในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นการหลงทางครั้งใหญ่ของประเทศ ทำให้ครูเนี่ยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำเรื่องวิทยฐานะกันหมด จึงไม่มีคนใส่ใจคุณภาพเด็ก ผมถามว่าวันนี้เด็กตกกันทั้งประเทศยังไม่มีใครมารับผิดชอบ ไม่มีบทลงโทษ และผลที่เกิดออกมากับ สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) เวลาที่มันวัดผลเกิดขึ้นมาไม่ได้มีการเอาไปใช้ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพเด็ก ต่างคนต่างอยู่ต่างยึดกฎหมาย ยึดสถาบัน ยึดองค์กรตัวเอง "กูมีหน้าที่สอบกูก็สอบ กูมีหน้าที่ออกข้อสอบ เด็กมึงตกมันก็ไปรับผิดชอบกันเอง"

Q : ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน

A : ใช่ มีแต่ครูจะได้ซีเพิ่มขั้น แต่เวลาเด็กตกไม่มีใครมารับผิดชอบอะไรเด็กเลย

Q : หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการออกข้อสอบแปลกๆ แบบนี้เกินหลักสูตรไปไหม


A : จริงๆ มันก็ไม่เกินหลักสูตรหรอก แต่ว่า มันเป็นข้อสอบที่ยากกว่าเด็กปกติ เป็นข้อสอบในเชิงวิเคราะห์ แต่ถ้ามองข้อสอบดีในเชิงวิเคราะห์ก็แปลว่าคนไทยได้คิดมากขึ้น

Q : แต่ว่าเราไม่ได้สอนเขาแบบนั้น


A : มันก็ไม่เป็นธรรม อาจารย์ที่ออกเขาเอามาตรฐานเด็กโรงเรียนสาธิต ให้คิดวิเคราะห์ทุกวันวิพากษ์วิจารณ์อะไรๆ มันฝึกตลอด พอคุณเอาวิธีวิธีการสอนเด็กกลุ่มหนึ่งมาวัดเด็กกลุ่มหนึ่งมันจึงไม่ยุติธรรม

Q : ทางแก้ไขคือ

A : ดีที่สุดก็คือ ยุบ สทศ. ยุบ สมศ. ไปเถอะรำคาญ คือเมื่อคุณวัดขึ้นมาแล้วมันไม่ใช่ประโยชน์ ถ้าวัดออกมาแล้วเครื่องมือไม่สอดคล้องและมันใช้งบประมาณมากก็ยุบไปเถอะเสียเงินเปล่าๆ

Q : การเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อยมีผลไหม

A : มีครับ มันทำให้ข้าราชการระดับสูงนี้ใส่ใจเรื่องคุณภาพ มันก็มัวแต่ตามนโยบายลมเพลมพัด นโยบายไฟไหม้ฟาง นโยบายของตัวเอง ฉะนั้นจึงไม่ทุมเท ก็ไปใส่ใจในตัวนโยบายเฉพาะกิจหรือนโยบายส่วนตัวของรัฐมนตรี คุณภาพเด็กที่ลงไปบริหารกับครูในโรงเรียนมันก็ลดน้อยลง

ความเอาจริงเอาจังก็มันหายไปเยอะ การตรวจราชการ การติดตามเอาใจใส่อะไรพวกนี้ ข้าราชการส่วนกลาง ดังนั้นผมเสนอให้มีการคาดโทษอย่างหนักกับคนทำให้ผิดพลาดแต่นี่ไม่มี ทั้งๆ ที่ผลออกมาเด็กสอบโอเน็ตตกทั้งประเทศมันต้องรับผิดชอบกันทั้งกระทรวง แล้วผลออกมาใครรับผิดชอบ ไม่มี จริงๆแล้วผู้ใหญ่ต้องเป็นคนรับผิดชอบผมเสนอว่าทางออกคือต้องเอาผลการประเมินระดับโรงเรียนไม่ว่า สทศ. สมศ. และนำคะแนนเป็นตัวตั้ง มาจัดกลุ่มกัน กลุ่มนี้ต้องแก้ไขปรับปรุงมาก กลุ่มแก้ไข กลุ่มปานกลาง กลุ่มดี พอรู้ปัญหาก็ระดมคน สื่อการเรียนการสอบ อุปกรณ์ต่างๆ ลงไปช่วยเหลือเด็กห้องต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ

2554 คำถามที่ต้องการคำตอบ เมื่อเด็กสอบโอเน็ตตกทั่วประเทศ...?

1.กระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องรู้ไหมว่าสาเหตุหลักที่เด็กสอบโอเน็ต หรือวิชาพื้นฐานตก เพราะวันนี้ในโรงเรียนเน้นทำการบ้านส่ง 70-80 % แต่ว่าการสอบจริงในห้องเรียนมีแค่ 20-30 % เท่านั้น คำถามก็คือวันนี้เด็กได้รับการฝึกฝนในการทำข้อสอบมาเพียงพอหรือเปล่า ถ้าไม่พอแล้วทำไมไม่เพิ่มเติม

2.คำถามก็คือ เมื่ออยากรู้ว่าครูมีคุณภาพไหมทำไมไม่เอาครูมาสอบเอ็นทรานซ์เทียบกับเด็กจะได้รู้ไปเลยว่าครูมีความรู้พอที่จะสอนหรือเปล่า ซึ่งมันจะสะท้อนได้ว่า ถ้าคุณครูคะแนนต่ำกว่าเด็ก 1.สถาบันผู้สอนต้องล้มเหลวแน่ ๆ 2.วิธีการสอนต้องล้มเหลวแน่ๆ 3.ถ้าเอาครูมาสอบเอ็นทรานซ์แล้วครูคะแนนไม่ดีมันก็ยืนยันความล้มเหลวแน่ๆ ดังนั้นจะได้รู้ว่าอะไรคือราก จุดอ่อนของการศึกษาเมืองไทยที่ล้มเหลวเสมอๆ เรื่องง่ายๆ แบบนี้ผู้มีส่วนรับผิดชอบทำอะไรบ้างหรือยัง

3.ทำไมนโยบายการศึกษาเรามักจะสนับสนุนให้คนเก่ง เรียนแพทย์ เรียนวิศวะแต่สนับสนุนให้คนไม่มีทางเลือกไปเรียนครู ซึ่งครูทำหน้าที่ผลิตครูก็คืออาจารย์ในสถาบันราชภัฏต่างๆ แล้วคนผลิตก็ไม่ฉลาด คนถูกผลิตก็ไม่ฉลาด ขบวนการผลิตก็ไม่ฉลาด แล้วกระบวนการจัดการเรียนการสอนก็ไม่ฉลาด ประชากรศึกษาที่มีความรู้ก็รู้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผู้มีส่วนรับผิดชอบทำอะไรบ้างหรือยัง

4.ทำไมไม่กำหนดก่อนว่าข้อสอบจะประเมินอะไรของเด็กที่จะเข้ามาเรียน เหมือนกับที่สถาบันศึกษาจากต่างประเทศที่มีการทดสอบที่มีประสิทธิภาพนักเรียนเพื่อจะได้รู้ทิศทางความถนัดและความชื่นชอบเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ถูกต้องและตรงทิศทาง

5..ย้อนหลังกลับไป 15 ปีที่แล้วมีการสอบเอ็นทรานซ์เพียงแค่ครั้งเดียว กล่าวคือสอบได้ก็ได้ สอบไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ตก ไม่เหมือนวันนี้ที่ต้องผูกชะตาชีวิตเด็กขึ้นกับครู และระบบแอดมิดชั่นใช้เกรด+กับการสอบ และคำถามใหญ่สุดท้ายก็คือครูทุ่มเทใช้จิตวิญญาณสอนอย่างเต็มทีได้แค่ไหน…?


นี่คือคำถามเสี้ยวจากที่ไทยรัฐออนไลน์ประมวลมาจากผู้รู้มากมาย นอกจากต้องการคำตอบแล้ว ยังต้องการผู้รับผิดชอบเมื่ออนาคตของชาติสอบวิชาพื้นฐานตกทั้งประเทศด้วย...?


ที่มา ไทยรัฐ 11 เมษายน 2554
http://www.kroobannok.com/42754

+++++++========


ส่วนเรายังเห็นว่าน่าจะสืบค้นหาสาเหตุเพิ่มเติม  ที่ว่ามาข้างบนนี้ยังไม่เพียงพอหรอก  
มันต้องมีเหตุมากกว่านี้ที่ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึง...
แต่ที่แน่ๆ คือครูเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาอันดับ 1 ทุกครั้งอยู่แล้ว


เหมือนกับเวลามีเพลิงไหม้  จำเลยอันดับ 1 คือไฟฟ้าลัดวงจร นั่นเอง. 


พัฒนาการเรียนการสอน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น