05 มิถุนายน 2555

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๑๔๕/๒๕๕๕ : เปิดงานโครงการครูคืนถิ่น

ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการ “ครูคืนถิ่น” ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ย้ายคืนถิ่น โดยมีผู้บริหาร ศธ.คณะทำงานและตัวแทนครูคืนถิ่นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั้ง ๕ ภูมิภาค เข้าร่วมงานกว่า ๓,๕๐๐ คน เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕



รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา ภายใต้โครงการย้ายครูคืนถิ่น ซึ่งโดยปกติการโยกย้ายและบรรจุครูจะสามารถดำเนินการได้เพียงร้อยละ ๑๙ จากคำร้องขอทั้งหมด ทำให้ครูจะต้องรอคอยการย้ายกลับบ้านเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี หรือจนเกือบจะเกษียณอายุราชการ อีกทั้งครูจำนวนมากได้รับการบรรจุตามพื้นที่ที่ขาดแคลน อยู่ไกลจากภูมิลำเนาของตนเอง ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เพราะครูส่วนมากต้องสร้างเนื้อสร้างตัว มีภาระทางครอบครัวที่แตกต่างกัน ทำให้กระทบต่อขวัญกำลังใจในการทุ่มเททำงาน คุณภาพชีวิต และไม่ได้อยู่กับครอบครัว


  More Resources

 ข่าวล่าสุดของ รมว.ศธ.
 เกี่ยวกับ สพฐ.


 

144 ชี้แจงการรับนักเรียน 
127 รมว.ศธ.ประชุมทางไกลกับ ผอ.สพท. 
123 ศธ.เลือกแก่งจันทร์โมเดลเป็นต้นแบบพัฒนาคุณภาพ รร.ขนาดเล็ก 
120 เร่งย้ายครูคืนถิ่น 
115 สพฐ.จัดประชุมสัมมนาปฏิบัติธรรม ผอ.สพท. 
108 ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
100 ศธ.เริ่มบรรจุเนื้อหาในแท็บเล็ต 
086 ตลาดนัดเรียนต่อ 
075 ประชุมทางไกลกับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา 
066 ตอบกระทู้การรับนักเรียน 
 
 
   
  
 

ข่าวย้อนหลังในรอบปีเกี่ยวกับ สพฐ.






ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดโครงการย้ายครูคืนถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัดของ ศธ. ที่ปฏิบัติหน้าที่นอกเขตภูมิลำเนา สามารถยื่นเรื่องขอย้ายคืนถิ่น เพื่อกลับสู่บ้านเกิด กลับไปอยู่กับลูก ครอบครัว บิดามารดา เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ส่งผลให้สามารถทำงานได้เต็มตามศักยภาพ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันและช่วยให้ครูได้พัฒนางานและการเรียนการสอนของตนเอง ซึ่งโครงการครูคืนถิ่นจัดขึ้นภายใต้แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดคุณภาพที่ดี นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเรียนการสอน

  
โครงการครูคืนถิ่น มีหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะต้องเป็นข้าราชการครูสายงานการสอนและบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. ใช้เพียง ๑ ครั้งเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๕๔ โดยยื่นคำร้องขอย้ายผ่านต้นสังกัด สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอย้าย กำหนดให้เป็นข้าราชการครูที่อยู่นอกเขตภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของตนเอง คู่สมรส หรือบิดามารดาของตนเองเท่านั้น และต้องดำรงตำแหน่งสายงานการสอนในสถานศึกษาที่อยู่นอกเขตภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ดังกล่าวติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔
ซึ่งผลการดำเนินโครงการครูคืนถิ่นในช่วง ๕-๖ เดือนที่ผ่านมา ศธ.สามารถดำเนินการย้ายครูคืนถิ่นได้มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนผู้ยื่นความประสงค์กว่า ๒๐,๐๐๐ ราย โดยจำแนกได้ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผู้ยื่นความประสงค์ จำนวน ๒๐,๒๐๙ ราย ได้ย้ายคืนถิ่น จำนวน ๑๐,๑๗๔ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓๔ โดยจำแนกเป็นรายกรณี ดังนี้ ๑) ย้ายลงตำแหน่งว่าง ๑,๘๒๗ ราย ๒) ย้ายสับเปลี่ยนตัวบุคคล ๒๖ ราย ๓) ย้ายโดยการตัดโอน ๗,๔๘๑ ราย ๔) ช่วยราชการ ๘๔๐ ราย
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีผู้ยื่นความประสงค์ จำนวน ๑,๐๐๒ ราย ได้ย้ายคืนถิ่น จำนวน ๒๘๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๗๒
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีผู้ยื่นความประสงค์ จำนวน ๑๕๑ ราย ได้ย้ายคืนถิ่น จำนวน ๗๗ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๙๙ ราย

การดำเนินการโครงการครูคืนถิ่นในปีนี้ ศธ.สามารถดำเนินการย้ายครูกลับสู่บ้านเกิดได้มากสุดในประวัติการศึกษาไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์ให้สามารถตัดโอนตำแหน่งได้ จึงทำให้สามารถย้ายครูได้มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของครูที่ยื่นความประสงค์ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายของโครงการไม่ได้อยู่ที่หลักเกณฑ์ แต่อยู่ที่คนก็คือ "นักเรียน" รองลงมาก็คือครู ศธ.จึงต้องการช่วยเหลือครูที่เปรียบเสมือนเรือจ้างดูแลนักเรียน ถ้า ศธ.ช่วยเหลือให้ครูสามารถไปแจวเรือจ้างที่อื่นได้ โดยเรือจ้างปัจจุบันหาคนมาแจวแทนได้ และสอดคล้องกับสาขาวิชาที่ขาดครู ก็พร้อมจะดำเนินการให้ เพราะครูเสียสละมานานแล้ว ก็ควรจะต้องได้ย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อไปอยู่กับลูก ครอบครัว และบิดามารดา


สำหรับความกังวลเรื่องการขาดแคลนครูนั้น ได้ให้ สพฐ.มอบอำนาจแก่ผู้อำนวยการโรงเรียนให้สามารถจ้างครูในพื้นที่ได้เลย โดยให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ เพื่อให้ครูได้อยู่กับโรงเรียน ไม่ต้องไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการหรือขอย้ายไปอยู่ที่อื่นอีก และถ้าโรงเรียนใดขาดครูจำนวนมาก ให้ สพฐ.จัดงบประมาณเพื่อสมทบให้กับครูอัตราจ้างในอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการ และให้มีสิทธิ์เท่าเทียมกับราชการ เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า ข้าราชการ เท่านั้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ยกเลิกระบบราชการแล้ว โดยเรียกว่า “พนักงานมหาวิทยาลัย” ซึ่งสำหรับครูคงจะใช้คำว่า พนักงานครูหรือพนักงานโรงเรียนที่มีความมั่นคง มีบำเหน็จ บำนาญ เช่นเดียวกับข้าราชการ  สำหรับปีต่อไปจะเปิดโอกาสให้กับครูทุกคน เพราะเชื่อว่าครูทุกคนก็ต้องการกลับสู่บ้านเกิดตนเอง รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่ง ศธ.จะดำเนินการให้ในโอกาสต่อไป โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นมาใหม่ เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมกับทุกคน



รมว.ศธ.กล่าวฝากกับครูและผู้บริหารทุกคนว่า ขออย่าได้อดทนต่อการใส่ร้ายป้ายสี ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ทุกคนรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตัวเอง ทำตัวเองให้เข้มแข็ง อย่ายอมต่อความไม่ถูกต้อง อย่ายอมต่อคนที่คดโกงหรือคนที่มาสั่งให้ทำผิด ขอให้ครูกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ยืนอยู่บนความซื่อตรง ไม่ยอมต่ออิทธิพลด้านการคอรัปชันและอำนาจบาดใหญ่ ก็จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปได้มาก และจะมีผลต่อเนื่องไปถึงนักเรียน เพราะครูจะสอนให้นักเรียนอีกกว่า ๑๐ ล้านคนได้เป็นไทยแก่ตัวเอง

วันนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง โดยเปลี่ยนด้วยน้ำมือของครู ณ ที่นี้ และครูที่ดูอยู่ทางบ้าน ขอให้ทุกคนได้ช่วยกัน การที่ รมว.ศธ.ประกาศเพียงคนเดียวคงจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ต้องของความร่วมมือจากพวกเราและประชาชนทั่วประเทศ  ถ้าทุกคนร่วมมือกัน และสามารถทำได้ตามที่คาดหวัง งบประมาณในปี ๒๕๕๖ กว่า ๕ แสนล้านบาท ก็จะสามารถนำไปดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้มากมาย คำพูดที่ว่า “การศึกษาไทยตกต่ำ คะแนนสอบ O-Net ต่ำ” ก็จะหมดไป


ภาพ สถาพร ถาวรสุข
นอกจากนี้ ศธ.จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้มีความน่าเชื่อถือดังเดิม โดยการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ซึ่งประกอบด้วย
Transparency คือความโปร่งใส ตรวจสอบได้  ตั้งแต่การเข้าเรียน การเป็นครู การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งการสอบต่างๆ จะต้องไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ครูสามารถรู้คะแนนการทำงานของตัวเอง คิดคะแนนการทำงานได้ด้วยตัวเอง ก็จะเกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม จะขจัดการคอรัปชันให้หมดไปจาก ศธ. โดยขอฝากผู้บริหาร ศธ.แก้ไขกฎระเบียบทั้งหลายให้เกิดความเป็นธรรมภายใน ๒-๓ เดือนต่อจากนี้

Accountability คือผลงานจากการสอน ไม่ต้องทำวิจัย  ผลงานจะต้องมาจากหน้าที่ของครู คือการสอน โดยยึดเป้าหมายที่นักเรียนเป็นหลัก ให้นักเรียนได้มีชีวิตความเป็นอยู่และมีความรู้ดีกว่ารุ่นเรา ซึ่งจะวัดผลการสอนของครูด้วยคะแนนสอบนักเรียน ๒ ส่วน คือ คะแนนสอบข้อสอบมาตรฐาน Natural Test ของนักเรียนชั้น ป.๑-๕ ก่อนขึ้นชั้นเรียนใหม่ ๒๐% รวมกับคะแนนการสอบทั่วไปของครูที่สอนอีก ๘๐% ซึ่งคะแนนของครูจะมาจากส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของคะแนนนักเรียน ซึ่งเป็นข้อดีที่จะทำให้ครูตั้งใจสอน และนักเรียนเองก็ต้องกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น แต่ ศธ.จะไม่เพิ่มความยุ่งยากให้กับนักเรียนและครูโดยการจัดสอบเพิ่ม เพียงแต่เพิ่มข้อสอบและให้สอบพร้อมกับการสอบเลื่อนชั้นตามปกติ 

โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวเชิญชวนให้ครูทั่วประเทศช่วยกันออกข้อสอบในวิชาที่สอนตามหลักสูตรมาตรฐาน ถ้าข้อสอบได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในคลังข้อสอบ (Item Bank) ก็จะจัดหาค่าตอบแทนให้ รวมทั้งการจัดทำ Learning Object, Application สำหรับบรรจุในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตด้วย

ที่มา  :
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
http://www.moe.go.th/websm/2012/jun/145.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น